วันเสาร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557

ปรเพณีภาคกลาง

        เป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่ม และไทยธรรมเป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์ คำว่า กฐิน ตามภาษาบาลีแปลว่า ไม้สะดึง คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้าเพื่อเย็บของพระภิกษุให้สะดวกขึ้น เนื่องจากสมัยก่อน เครื่องมือที่จะใช้เย็บได้สะดวกไม่ มีเหมือนในปัจจุบัน การเย็บจีวรต้องเย็บหลาย ๆ ชิ้นต่อกัน และประสานกันให้มีรูปเหมือนคันนาจึงต้องอาศัยไม้สะดึงช่วยในการขึงผ้า ฉะนั้น ผ้าที่ทำด้วยไม้สะดึงเพื่อการนี้โดยเฉพาะจึงเรียกว่า ผ้าเพื่อกฐิน และยังเรียกผ้ากฐินตามความหมายเดิมเรื่อยมาจนปัจจุบัน แม้ว่ามีผ้าสำเร็จรูปทำเพื่อทอดกฐินโดยไม่ได้อาศัยไม้สะดึงก็ตามแต่เดิมกฐินเป็นเรื่องของสงฆ์โดยเฉพาะ ภิกษุสงฆ์ต้องไปหาผ้ามาเองจากที่ต่าง ๆ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ด้วยวิธีบังสุกุลและนำผ้านั้นมาเย็บย้อมเอง ต่อมาราษฎรมีจิตศรัทธานำผ้ามาถวายในที่สุดพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้รับผ้าจากราษฎรได้และเมื่อทรงอนุญาตให้กรานกฐินจึงเป็นสาเหตุให้ราษฎรบำเพ็ญกุศลด้วยการทอดกฐิน โดยนัดแนะกับพระ พระจัดการต้อนรับดังนี้เป็นต้น คำว่า ทอด คือ เอาไปวางไว้ การทอดกฐิน จึงหมายถึงการนำเอาผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์ซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย ๕ รูป โดยมิได้ตั้งใจว่าจะถวายแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะประเพณีการทอดกฐินของไทยมีหลักฐานปรากฏว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังปรากฎในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ และได้ถือเป็นประเพณีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันซึ่งมีทั้งกฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลลงไปจนถึงกฐินของราษฎร


กฐินมี ๒ ประเภท คือ กฐินราษฎร์ และกฐินหลวง
กฐินหลวง หมายถึง กฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทอดถวายหรือพระราช ทานให้พระบรมวงศานุวงศ์และองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ ไปทอดถวายเมื่อถึงกำหนดเทศกาลทอดกฐิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินพระอารามหลวงในเขตที่ใกล้พระนคร เป็นส่วนมากเริ่มพระกฐินหลวงแต่วันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันแรก กำหนดเสด็จ ฯ ถวายผ้าพระกฐิน ๓ วัดหรือ ๒ วัด รุ่งขึ้นแรม ๗ ค่ำ พักวันหนึ่งวันที่พักนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่เสด็จ ฯ ไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เจ้าพนักงานเตรียมการที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินเป็นกระบวนพยุหยาตราสถลมารคส่วนกระบวนพยุหยาตราชลมารคจะต้องกำหนดในวันแรม ๙ ค่ำ ก็เพราะวันนี้ทางจันทรคติปรากฏว่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงพระนครจะขึ้นมาก และนิ่งไม่ไหลขึ้นลง สะดวกในการที่จะจัดเป็นกระบวนพยุหยาตราทรงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ สับเปลี่ยนกันไปแต่ละปีพระอารามหลวงที่ทางราชการกำหนด เป็นวัดที่จะต้องเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินเป็นประจำปี และเป็นหน้าที่ของสำนักพระราชวังที่จะต้องเตรียมการต่าง ๆ 


          การทำบุญกฐินนี้ก่อให้เกิดอานิสงส์ทั้งผู้ทอดและภิกษุสงฆ์ สำหรับภิกษุสงฆ์นั้น มีบัญญัติไว้ในพระวินัยว่าผู้กรานกฐินแล้ว จะได้อานิสงส์ ๕ ประการ คือ.......................................................................
๑. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา..............................................................................................................
๒. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบสำรับ.........................................................................................................
๓. ฉันคณะโภชน์ได้..............................................................................................................................
๔. ทรงอดิเรกจีวรได้ได้ตามปรารถนา (ในพระวินัยกำหนดให้ภิกษุเก็บผ้าจีวรเกินจากสำรับที่นุ่งไม่ได้..... เก็บได้เพียงแค่ ๑๐ วัน.. หลังจากนี้ต้องสละให้ผู้อื่นไป ถ้ากรานกฐินแล้วเก็บได้เกินกว่านี้)............
๕. ลาภที่เกิดขึ้น ให้เป็นของภิกษุผู้จำพรรษาในวัดนั้น ซึ่งได้กรานกฐินแล้ว............................................
           การที่พระพุทธเจ้ากำหนดไว้ในพระวินัย ให้พระสงฆ์ผู้กรานกฐินแล้วได้รับการยกเว้น เพราะเกิดปัญหาและข้อขัดข้องบางประการ อันก่อให้เกิดความลำบากแก่ภิกษุสงฆ์ เช่น ต้องบอกลา ถ้าอยู่คนเดียวก็บอกลาไม่ได้ การต้องเอาจีวรไปให้ครบ การฉันอาหารล้อมวงกันไม่ได้ การเก็บจีวรสำรองไว้ไม่ได้ นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นความลำบากของภิกษุ จึงมีพุทธานุญาตให้กรานกฐิน นับเป็นความดีความชอบประการหนึ่งที่เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ต้องร่วมมือร่วมใจกัน พระพุทธองค์จึงทรงกำหนดข้อยกเว้นไว้ให้ส่วนอานิสงส์สำหรับผู้ทอดนั้น เชื่อกันว่าได้บุญกุศลแรง เพราะปีหนึ่ง ๆ จะมีเพียงครั้งเดียวและมีฤดูกาลทอด เป็นผลให้ผู้ทอดมีจิตใจแจ่มใสและปีติยินดีในบุญกุศลที่ตนได้ทำไว้ นอกจากนี้ยังสามารถขจัดความโลภ โกรธ หลง โดยทางอ้อมได้อีกด้วย กล่าวคือ กำจัดความโลภในวัตถุทานที่ได้บริจาคแล้วนั้น กำจัดความโกรธเพราะได้ฟังอนุโมทนาบุญนั้น กำจัดความหลงเข้าใจผิดเพราะทำด้วยมือของตนเองในบุญนั้นได้

















ประเพณีภาคใต้

ประเพณีสารทดือนสิบ จังหวัดนครศรีธรรมราช


     ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ถือเป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราช ไม่ว่าลูกหลานหรือญาติพี่น้องของคนในครอบครัวจะไปทำงานอยู่แห่งหนตำบลใดของประเทศไทย มักจะต้องลางานหรือหยุดงานเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อมากราบไหว้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และผู้ที่เคารพนับถือเพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณ รวมทั้งจะได้ทำบุญให้ผู้ที่ล่วงลับ และอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาของคนในครอบครัว และมีการพบปะสังสรรค์ฉลองกันด้วย นับว่าเป็นช่วงที่ครอบครัวมีความอบอุ่นที่สุด ซึ่งปีนี้วัน “บุญหลังหรือบุญใหญ่” ตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม 2556 เป็นวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งในช่วงก่อนถึงวันทำบุญใหญ่ 2-3 วัน ในตัวเมืองนครศรีธรรมราชจะคึกคักเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้คนจากทุกทั่วสารทิศจะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว กราบไหว้สักการะพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เพื่อความเป็นมงคล รวมทั้งจับจ่ายซื้อของเตรียมทำบุญ โดยเฉพาะขนมพอง ขนมลา ขนมดีซำ ขนมกง ขนมบ้า ขนมเทียน รวมทั้งผลไม้ทุกชนิดจะขายดีมาก ขณะที่พระสงฆ์ สามเณรที่จำพรรษาตามวัด สำนักสงฆ์ต่าง ๆ จะทำการพัฒนา ทำความสะอาดวัด ศาสนสถาน ไว้รอรับญาติโยมที่จะเดินทางไปทำบุญตักบาตรที่วัด ประเพณีบุญสารทเดือนสิบ มีการสืบทอดกันมายาวนานหลายร้อยปี ซึ่งได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อที่มาจากศาสนาพราหมณ์โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ที่เข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติ ที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรกเนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ในการมาขอรับส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หรือที่เรียกกันว่า “วันรับตายาย” หรือเป็นวันบุญแรก หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำเดือน10“วันส่งตายาย”หรือเป็นวันบุญหลังหรือบุญใหญ่ซึ่งวันนี้มีการยกหฺมฺรับพร้อมภัตตาหาร(ปิ่นโต)ไปวัด เมื่อหฺมฺรับถึงวัดแล้ว ก็จะร่วมกันตักบาตร ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ เสร็จแล้วจะร่วมกัน “ตั้งเปรต” เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยอาหารที่จะตั้งเปรตนั้นจะเป็นขนมเดือนสิบทั้ง 5 หรือ 6 อย่าง รวมถึงอาหารอื่น ๆ และผลไม้ที่บรรพชนชอบ ตั้งเปรตเสร็จแล้ว พระสงฆ์จะสวดบังสุกุล โดยจับสายสิญจน์ที่ผูกไว้กับหลาเปรต เมื่อพิธีสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้คนจะร่วมกัน “ชิงเปรต” ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้วยังมีความเชื่อว่า หากใครได้กินอาหารบนหลาเปรตจะได้รับกุศลแรง เป็นมงคลแก่ตนเองและครอบครัว หลังเสร็จสิ้นการชิงเปรตแล้วส่วนหนึ่งก็จะรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกันที่วัด หรือต่างก็แยกย้ายกันกลับบ้านด้วยใจที่อิ่มบุญ ในช่วงเทศกาลประเพณีบุญสารทเดือนสิบนี้เอง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดงานประเพณีเทศกาลบุญสารทเดือนสิบและงานกาชาดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 28 กันยายน - 7 ตุลาคม 2556 มีสถานที่จัดงานหลักที่ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 ทุ่งท่าลาด ส่วนที่อื่น ๆ ได้แก่ สวนศรีธรรมาโศกราช วัดหน้าพระบรมธาตุและวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมืองนครศรีธรรมราช การจัดงานปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 90 แล้ว มีกิจกรรมที่หลากหลายและยิ่งใหญ่กว่าทุกปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมและสืบสานเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้คงอยู่สืบไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมสร้างความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนและความรักสามัคคีในหมู่คณะ เพื่อหารายได้สำหรับใช้จ่ายในกิจการสาธารณกุศลต่างๆ ของเหล่ากาชาด และร่วมเฉลิมฉลองที่คณะกรรมการมรดกโลกรับรองพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นตามที่ประเทศไทยนำเสนอ อย่างเป็นทางการ 
        สำหรับกิจกรรมในงาน ประกอบด้วย พิธีบวงสรวงพระราชานุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การประชันหนังตะลุงภาคใต้ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดแข่งขันศิลป วัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น เพลงบอก มโนราห์ กลอนสด หนังตะลุงระดับเยาวชน การประกวดหฺมฺรับและขบวนแห่หฺมฺรับ ชิงหฺมฺรับทองคำพระราชทาน การตั้งเปรตและชิงเปรต การประกวดนางสาวนครศรีธรรมราช การออกร้านนาวากาชาดและออกรางวัลสลากกาชาดการกุศล การจัดตลาดย้อนยุค วิถีชีวิตย้อนยุค การละเล่นพื้นบ้าน รำวงเวียนครก สวนสนุก การแสดงของศิลปินนักร้องชื่อดัง นอกจากนี้ยังจัดให้มีนิทรรศการพระบรมธาตุสู่มรดกโลก กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรยั่งยืน การประกวดวรรณกรรมไทยและเพลงร้องเรือเด็ก การประกวดหุ่นเปรต ริ้วขบวนแห่เปรต ตั้งเปรตชิงเปรต การจำหน่ายอาหารและสินค้าหลากหลายชนิด